ความรู้สำหรับประชาชน

ระวัง! เชื้อจากพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากการติดเชื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีทั้งโค กระบือ สุกร แมว  แต่ในประเทศเราพบจากสุนัข ร้อยละ 95  เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังกัน ติดตามได้จากรศ.นพ.วินัยรัตนสุวรรณ  ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสในน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคผ่านแผลกัดข่วน หรืออาจเข้าทางแผลรอยถลอกบนร่างกาย หรืออาจเข้าทางเยื่อบุในปากจมูกหรือตา แต่ยังไม่เคยพบการติดต่อโดยตรงระหว่างคนกับคน
        เมื่อได้รับการสัมผัสเชื้อหลังถูกสัตว์กัด เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายไปตามเส้นประสาทจากไขสันหลังสู่สมอง  มักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เจ็บคอ คันบริเวณรอยแผล โดยมีอาการอยู่ 2-3  วัน จากนั้นอาการของโรคจะชัดเจนและรุนแรงขึ้น เช่น อาการกระสับกระส่าย มีเหงื่อออกมาก อาจมีน้ำตาไหล และม่านตาขยายกว้าง
        โรคพิษสุนัขบ้าไม่มียารักษา หากรอจนมีอาการแสดงแล้วจะเสียชีวิตทุกราย  หากมีอาการแล้วการรักษาทำได้เพียงประคับประคองตามอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการอัมพาตก่อนเสียชีวิตภายใน 1 สัปดาห์ 
    ถึงแม้ไม่มียารักษา แต่มีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากพิษสุนัขบ้า หรือถูกสัตว์กัด เช่น เด็ก  คนแก่  บุรุษไปรษณีย์  สัตวแพทย์  ถ้าได้รับเชื้อจากการสัมผัสน้ำลายผ่านบาดแผล รอยถลอก หรือถูกสุนัขกัด ให้สังเกตอาการของสุนัขประมาณ 10 วัน   ถ้าสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยให้รีบรักษาทันที
         สำหรับการรักษาพยาบาล เช่น การฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรืออิมมูโนโกลบุลินการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก  การรับยาไปรับประทานเพื่อลดอาการปวด  รวมทั้งการเย็บแผล จะใช้วิธีใดขึ้นกับความรุนแรงของบาดแผลและสภาพของสุนัข
อย่างไรก็ดี ผู้ที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดกัดเป็นแผลที่ใบหน้า ศีรษะ คอ มือ และนิ้วมือ หรือมีแผลลึก และฉีกขาดมาก จะต้องได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบุลินอย่างเร่งด่วน  โดยฉีดบริเวณรอบแผลร่วมกับวัคซีน  เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงมาก
         โรคพิษสุนัขบ้าป้องกันได้ ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อและลดความวิตกกังวลลงได้
         ในช่วงรักษ์สุขภาพ มีวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมกัดมา แนะนำ โดยล้างแผลเบาๆ ด้วยน้ำสะอาดกับสบู่หลายๆ ครั้ง ถ้าเป็นแผลลึก ให้ใช้สำลีพันปลายไม้หมุนเข้าไปล้างก้นแผลด้วย เพื่อล้างเชื้อออกจากแผลให้มากที่สุด จากนั้นเช็ดแผลให้แห้งด้วยผ้าสะอาดหรือสำลีแล้วใส่ยารักษาแผลสดก่อนพามาโรงพยาบาล